เรื่องควรรู้
โรคริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids) คือ โรคที่เกิดจากหลอดเลือดดำบริเวณลำไส้ใหญ่ และทวารหนักมีอาการบวม โป่งพอง และมีหลอดเลือดบางส่วนยื่นออกมาจากทวารหนัก
โรคริดสีดวงทวารเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่นภาวะท้องผูกเรื้อรัง ท้องเสียบ่อย มีภาวะโรคตับแข็ง รวมทั้งจากการใช้ชีวิตและพฤติกรรมการขับถ่าย เช่น ชอบเบ่งอุจจาระอย่างแรง ชอบนั่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน ยกของ หรือออกแรงเบ่งมากๆ
โรคริดสีดวงทวารแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ริดสีดวงทวารภายใน (Internal Hemorrhoids) และริดสีดวงทวารภายนอก (External Hemorrhoids)
ความรุนแรงของโรคริดสีดวงทวารจะเพิ่มตามระยะที่เป็น เริ่มตั้งแต่มีเลือดไหลออกมาเวลาเบ่งถ่ายอุจจาระ หัวริดสีดวงโตขึ้น ติ่งเนื้อเริ่มโผล่ออกมาพ้นปากทวารหนัก ในที่สุดจะสามารถมองเห็นหัวริดสีดวงได้ มีอาการบวม อักเสบและมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงมาก
โรคริดสีดวงทวารเป็นอีกหนึ่งในโรคเกี่ยวกับระบบขับถ่ายที่หลายคนมักจะได้ยินกันบ่อยๆ เพราะสาเหตุส่วนมากของโรคริดสีดวงทวารนี้เกิดมาจากพฤติกรรมการขับถ่ายที่ผิดๆ ซึ่งหลายคนมักไม่รู้ตัวนั่นเอง
ความหมายและสาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร
โรคริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids) คือ โรคที่เกิดจากหลอดเลือดดำบริเวณลำไส้ใหญ่ และทวารหนักมีอาการบวม โป่งพอง และมีหลอดเลือดบางส่วนยื่นออกมาจากทวารหนัก
เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น
ภาวะท้องผูกเรื้อรัง
ท้องเสียบ่อย
มีภาวะโรคตับแข็ง ซึ่งมีผลทำให้เลือดดำเกิดการอุดตัน จนเส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักโป่งพอง
อายุที่มากขึ้นและกล้ามเนื้อเริ่มหย่อนยาน จนทำให้เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อชื่อว่า "เบาะรอง" เลื่อนลงมาจนยื่นออกมาจากทวารหนัก
บุคคลในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคริดสีดวงทวารหนัก
รวมทั้งจากการใช้ชีวิตและพฤติกรรมการขับถ่าย เช่น
พฤติกรรมชอบเบ่งอุจจาระอย่างแรง
ชอบนั่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน โดยเฉพาะคนที่ชอบเล่นโทรศัพท์มือถือในขณะขับถ่าย
มักใช้ยาสวนอุจจาระ หรือยาระบายบ่อยเกินความจำเป็น
มีพฤติกรรมที่ต้องยกของ หรือออกแรงเบ่งมากๆ
ประเภทของโรคริดสีดวงทวาร
ริดสีดวงสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
ริดสีดวงทวารภายใน (Internal Hemorrhoids) หมายถึง โรคริดสีดวงทวารซึ่งตัวหลอดเลือดที่โป่งพองจะอยู่ที่บริเวณเหนือทวารหนักขึ้นไป จึงทำให้ไม่สามารถมองเห็น หรือคลำหาเจอได้ อีกทั้งโรคริดสีดวงชนิดนี้จะไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดอะไร หากยังไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น
ริดสีดวงทวารภายนอก (External Hemorrhoids) หมายถึง โรคริดสีดวงซึ่งเกิดบริเวณปากรอยย่นของทวารหนัก สามารถเห็นและคลำเจอติ่งเนื้อที่ปกคลุมหลอดเลือดที่โป่งพองได้ อีกทั้งติ่งเนื้อซึ่งยื่นออกมานั้นยังมีปลายประสาทที่รับความรู้สึกได้ด้วย ผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงชนิดนี้จึงอาจเผชิญความรู้สึกเจ็บปวดได้ โดยเฉพาะเวลาขับถ่ายอุจจาระ
อาการของโรคริดสีดวงทวาร
อาการของโรคริดสีดวงทวาร แบ่งออกเป็น 4 ระยะ โดยความรุนแรงจะเพิ่มตามระยะที่เป็น ได้แก่
ระยะที่ 1: มีเส้นเลือดดำโป่งพองในทวารหนัก มีเลือดไหลออกมาเวลาเบ่งถ่ายอุจจาระ หรือหากกำลังท้องผูก เลือดก็จะออกมากขึ้นกว่าเดิม
ระยะที่ 2: หัวริดสีดวงโตมากขึ้นและติ่งเนื้อจะเริ่มโผล่ออกมาพ้นปากทวารหนัก เวลาเบ่งอุจจาระจะสามารถมองเห็นได้มากขึ้น และจะหดกลับได้เองหลังขับถ่ายเสร็จแล้ว
ระยะที่ 3: หัวริดสีดวงเริ่มโผล่ออกมามากกว่าเดิมและไม่ใช่แค่เวลาขับถ่ายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเวลาไอ จาม หรือยกของหนักๆ ที่ต้องเกร็งท้อง เพราะพฤติกรรมดังกล่าวจะเกิดการเบ่ง ทำให้หัวริดสีดวงโผล่ออกมาข้างนอก และไม่สามารถหดกลับเข้าไปได้เองอีก นอกจากต้องใช้นิ้วช่วยดันกลับเข้าไป
ระยะที่ 4: หัวริดสีดวงโตมากขึ้น สามารถมองเห็นจากภายนอกได้อย่างชัดเจน รวมถึงมีอาการบวม อักเสบและมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงมาก ได้แก่
ทวารหนักผู้ป่วยมีเลือดออกอยู่เสมอ
ระหว่างนี้ผู้ป่วยอาจมีน้ำเหลือง หรือเมือกลื่นๆ และอุจจาระหลุดออกมาได้ ทำให้เกิดความสกปรก ส่งกลิ่นเหม็น และเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา
ผู้ป่วยอาจมีอาการคันที่ขอบปากทวารร่วมด้วย บางครั้งอาจถึงขั้นเน่าและอักเสบมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การติดเชื้อได้ง่าย และหากผู้ป่วยยังมีเลือดออกอยู่เรื่อยๆ ก็จะทำให้ตัวเริ่มซีด อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลง และเกิดอาการหน้ามืดได้
อ่านเพิ่มเติม: อาการโรคริดสีดวงทวารเป็นอย่างไร
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคริดสีดวงทวาร
ด้วยตัวโรคซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะเลือดออกและการเคลื่อนตัวของอวัยวะ จึงทำให้นอกจากอาการหลักๆ ของโรคที่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ทรมานแล้ว ผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารบางกลุ่มยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ด้วย
ลักษณะของภาวะแทรกซ้อนแบ่งออกได้ดังนี้
การตกเลือด หากผู้ป่วยมีเลือดไหลออกทางทวารหนักอยู่ตลอดเวลา เมื่อระยะเวลาผ่านไปก็จะทำให้เกิดภาวะขาดเลือด ความดันโลหิตตก โลหิตจาง หรือหากมีเลือดออกทีละเล็กน้อยแต่นานและเรื้อรังก็จะนำไปสู่สาเหตุของโรคโลหิตจางชนิดขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia) ได้ ภาวะนี้จะสังเกตได้จากระหว่างวัน ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติ เช่น อ่อนเพลียง่าย วิงเวียนศีรษะ เบื่ออาหาร มือเท้าเย็น ปากแห้ง เจ็บหน้าอก
ลิ่มเลือดอุดตัน หมายถึง เลือดที่จับตัวกันเป็นก้อนอยู่ภายในติ่งเนื้อริดสีดวง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง มักพบมากในโรคริดดวงทวารชนิดภายนอก
การบีบรัดของริดสีดวง พบได้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีติ่งเนื้อริดสีดวงโผล่ออกมาด้านนอกทวารหนักอย่างเห็นได้ชัด ติ่งเนื้อดังกล่าวจะไม่มีเลือดถูกส่งมาเลี้ยงจนทำให้เกิดภาวะขาดเลือดและทำให้หูรูดของทวารหนักเกิดการหดตัว จนลุกลามกลายเป็นการอักเสบและบวมอย่างหนัก รวมถึงทำให้มีลิ่มเลือดเกิดขึ้นภายในติ่งเนื้อริดสีดวงร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง
การวินิจฉัยโรคริดสีดวงทวาร
การวินิจฉัยโรคริดสีดวงทวารอาจแบ่งตามชนิดของริดสีดวง ดังนี้
สำหรับโรคริดสีดวงทวารชนิดภายนอก: แพทย์จะตรวจทวารหนักเมื่อพบว่า ผู้ป่วยมีแนวโน้มจะเป็นโรคริดสีดวงทวาร เนื่องจากโรคริดสีดวงทวารชนิดภายนอกจะมีติ่งเนื้อยื่นออกมาให้เห็นชัดเจนอยู่แล้วจึงสามารถตรวจได้ด้วยตาเปล่า ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์
สำหรับโรคริดสีดวงชนิดภายใน: แพทย์จะตรวจทวารหนักด้วยการสอดนิ้วเพื่อคลำหาความผิดปกติภายในทวารหนัก หรืออาจใช้เครื่องมือส่องกล้องพิเศษ เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคให้แม่นยำมากขึ้น
สำหรับผู้ป่วยที่อาการยังไม่ชัดเจน: ในผู้ป่วยที่อาการยังไม่ชัดเจน หรือมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วยรวมถึงผู้ป่วยสูงอายุ แพทย์มักจะใช้วิธีเอกซเรย์ (X-Rays) เพื่อตรวจลำไส้ใหญ่ หรือใช้วิธีการสวนแป้งแบเรียม (Barium enema) เพื่อหาความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ และวินิจฉัยโรคให้แน่ใจว่า ผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคมะเร็งลำไส้ หรือโรคที่เป็นสาเหตุทำให้ถ่ายเป็นเลือด หรือเกิดความผิดปกติต่อระบบทางเดินอาหาร
การรักษาโรคริดสีดวงทวาร
1. รักษาด้วยตนเอง
หากคุณเป็นโรคริดสีดวงในระยะที่ 1 หรือระยะที่ 2 สามารถรักษาให้หายได้ด้วยตนเอง โดยการใส่น้ำอุ่นในกะละมังใบใหญ่ เทด่างทับทิมผสมกับน้ำจนกลายเป็นสีชมพูจางๆ (หรือจะแช่น้ำอุ่นอย่างเดียวก็ได้)
จากนั้นให้นั่งแช่ลงในกะละมังประมาณ 15-20 นาที ควรทำทั้งก่อนและหลังถ่ายอุจจาระ เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ และลดการขยายตัวของหลอดเลือดดำบริเวณทวารหนัก
2. เหน็บยารักษาริดสีดวง
ในปัจจุบันมียาเหน็บรักษาริดสีดวงหลายยี่ห้อและหลายชนิดให้คุณได้เลือก แต่แนะนำให้คุณเลือกยาเหน็บที่มีส่วนผสมของเบนโซเคน (Benzocaine) 1 กรัม และลาโนลิน (Lanolin) 15 กรัม เพราะเป็นตัวยาสำคัญในการรักษาโรคริดสีดวงทวารให้ดีขึ้นได้
3. รักษาโดยการฉีดยา
มักใช้เพื่อรักษาโรคริดสีดวงทวารภายในระยะที่ 1และ 2 หรือโรคริดสีดวงทวารที่มีเลือดออกมาก แพทย์จะฉีดสารเคมีเข้าไปบริเวณชั้นใต้ผิวหนังที่มีขั้วติ่งเนื้อริดสีดวง ทำให้เกิดพังพืดอุดกั้นหลอดเลือดที่ส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงริดสีดวง หลังจากนั้นเลือดจะหยุดไหลและติ่งเนื้อริดสีดวงจะฝ่อไปในที่สุด
ขณะที่ฉีด แพทย์จะต้องระมัดระวังไม่ฉีดเข้าติ่งเนื้อริดสีดวงโดยตรงเพราะจะทำให้สารเคมีเข้าเส้นเลือด และทำให้ผู้ป่วยแน่นหน้าอก รวมถึงปวดท้องด้านบนได้
4. การรักษาโดยการใช้ยางรัด
การใช้ยางรัดหัวของติ่งเนื้อริดสีดวงที่โผล่ออกมาจะทำให้ติ่งเนื้อขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงและฝ่อจนหลุดไปเองตามธรรมชาติ วิธีนี้ใช้สำหรับริดสีดวงทวารในระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3
5. การผ่าตัด
ใช้รักษาโรคริดสีดวงทวารในระยะที่ 3 และระยะ 4 เพราะระยะนี้ติ่งเนื้อริดสีดวงจะมีขนาดใหญ่มากจนไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้เองอีก การผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับจำนวนและชนิดของริดสีดวงทวาร รวมทั้งความชำนาญของศัลยแพทย์ด้วย
เช่น หากผู้ป่วยมีติ่งเนื้อริดสีดวง 1-2 ตำแหน่ง แพทย์อาจต้องใช้อุปกรณ์พิเศษช่วยในการตัดริดสีดวงทวารโดยไม่ต้องใช้ไหมเย็บแผล แต่หากมีริดสีดวงทวารตั้งแต่ 3 ตำแหน่งขึ้นไป แพทย์อาจต้องใช้เครื่องมือตัดต่อเยื่อบุลำไส้ชนิดกลม โดยการตัดและเย็บแบบนี้จะเกิดตามแนวเส้นรอบวงของช่องทวารหนัก
วิธีการผ่าตัดแบบนี้มีข้อดีคือ แพทย์จะสามารถตัดติ่งเนื้อริดสีดวงออกได้ทุกหัวและไม่ทำให้รูทวารหนักแคบลงด้วย นอกจากนี้ผู้ป่วยจะไม่มีแผลภายนอกเลย อีกทั้งอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัดก็ไม่ร้ายแรงมาก
การเตรียมก่อนการผ่าตัดริดสีดวงทวาร
สิ่งที่สำคัญคือ ควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังรับประทานอยู่ก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพราะผู้ป่วยอาจจำเป็นจะต้องหยุดยาบางชนิด เช่น Aspirin, Advil (Ibuprofen), Aleve (Naproxen)
ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Coumadin (Warfarin), Eliquis (Apixaban) และ Xarelto (Rivaroxaban) หรือ Plavix (Clopidogrel, Bisulfate) หลายวันก่อนการผ่าตัด
นอกจากนี้ควรแจ้งแพทย์ด้วยหากตนเองสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่จะทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้ช้ากว่าปกติ และคุณอาจต้องงดน้ำและอาหารทุกชนิดเป็นเวลา 6-12 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด และควรปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
การปฏิบัติตนหลังการผ่าตัดริดสีดวงทวาร
คุณสามารถอาจกลับบ้านได้เลยหลังจากผ่าตัด แต่ไม่ควรขับรถกลับบ้านด้วยตนเองและควรมีญาติ หรือคนใกล้ชิดช่วยขับให้แทน หากมีอาการปวดหลังการผ่าตัดก็สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ตามที่แพทย์สั่ง
นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำให้แช่ก้นในน้ำอุ่นประมาณ 15-20 นาที เพราะจะช่วยทำให้บริเวณแผลผ่าตัดสะอาดและมีเลือดมาเลี้ยงเพิ่มขึ้น คุณสามารถสอบถามแพทย์ได้ว่าจำเป็นต้องแช่น้ำอุ่นบ่อยแค่ไหน ทั้งนี้อาการต่างๆ จะดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด
ความเสี่ยงของการผ่าตัดริดสีดวงทวารหนัก
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดประกอบด้วยการติดเชื้อ มีเลือดออก กลั้นอุจจาระไม่ได้ และมีอาการปวดเวลาปัสสาวะ
การฟื้นตัวหลังการผ่าตัดริดสีดวงทวาร
ระยะเวลาพักฟื้นของผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับความซับซ้อนและระยะเวลาการผ่าตัด รวมถึงความรุนแรงและจำนวนของริดสีดวงทวารที่ผ่าตัดออกไป แต่โดยส่วนมากแล้ว ผู้ป่วยจะเริ่มอาการดีขึ้นในวันที่ 3-4 หลังการผ่าตัด และดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้น
ส่วนเรื่องการทำกิจกรรมและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยปกติแล้วผู้ป่วยจะสามารถกลับมาทำกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้แรงมากได้ภายในเวลา 1 สัปดาห์หลังการผ่าตัด และสามารถกลับไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติภายในเวลา 2 สัปดาห์
อาการปวดหลังการผ่าตัดริดสีดวงทวาร
เป็นเรื่องปกติที่ผู้ป่วยซึ่งใช้วิธีรักษาโดยการผ่าตัดจะรู้สึกปวดในช่วงสัปดาห์แรกหลังการรักษา และเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่เลือกวิธีการรักษาโดยการฉีดยาให้ฝ่อ ผู้ป่วยที่ใช้วิธีการผ่าตัดจะมีอาการปวดมากกว่าพอสมควร
สำหรับระดับของความเจ็บปวดของผู้ป่วยหลังการรักษา นอกจากเรื่องรูปแบบการรักษาแล้ว ความรุนแรงของริดสีดวงทวารก่อนการผ่าตัดยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ระดับความเจ็บปวดไม่เท่ากันด้วย
ในช่วงสัปดาห์แรกหลังการรักษา ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแผลมากเวลาเบ่งอุจจาระและอาจรู้สึกเจ็บเวลาต้องโน้มตัว นั่งยองๆ ยกของ หรือเปลี่ยนท่าจากยืนเป็นนั่ง
ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเจ็บระหว่างขับถ่ายอุจจาระหลังการผ่าตัด บางราย ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้ยาแก้ปวดที่แพทย์สั่ง หรือการรับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารไม่เพียงพอด้วย นอกจากความรู้สึกเจ็บระหว่างขับถ่ายอุจจาระแล้ว ผู้ป่วยก็อาจเกิดอาการปวดขณะปัสสาวะได้เช่นกัน
วิธีแก้อาการเจ็บปวดหลังการผ่าตัดริดสีดวงทวาร
ส่วนมากจะเป็นการแก้ไขไปตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น
แพทย์จะจ่ายยาทำให้อุจจาระนิ่มในช่วงสัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด เพื่อลดอาการเจ็บขณะขับถ่าย
ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องอาการท้องผูก และทำให้ไม่รู้สึกเจ็บในขณะต้องเบ่งอุจจาระ
ผู้ป่วยควรนั่ง หรือนอนอยู่กับที่ในวันแรกๆ หลังการผ่าตัด
ให้ผู้ป่วยนั่งแช่น้ำอุ่นระดับความสูง 2-3 นิ้วเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดและอาการคันที่เกิดขึ้น โดยให้ใช้โถพิเศษคล้ายกระโถน และสามารถทำได้หลายๆ ครั้งต่อวันด้วย
แพทย์อาจสั่งจ่ายยาทาเฉพาะที่ให้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและตำแหน่งที่ผ่าตัดริดสีดวงออก
การติดเชื้อหลังการผ่าตัดริดสีดวงทวาร
การติดเชื้อเป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากการผ่าตัดรักษาริดสีดวงทวาร เนื่องจากอุจจาระสามารถเข้าไปปนเปื้อนตำแหน่งที่ผ่าตัดริดสีดวงได้และทำให้เกิดการติดเชื้อในภายหลัง
หากสังเกตว่า ตนเองมีเลือดออกเล็กน้อยบริเวณแผลผ่าตัดระหว่างเข้าห้องน้ำ หรือติดกางเกงชั้นใน ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตาม หากปริมาณเลือดเริ่มมีมากขึ้นผิดปกติ คุณควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
เลือดที่ออกนี้ยังสามารถเพิ่มปริมาณขึ้นได้ระหว่างที่อุจจาระในช่วงประมาณ 48-72 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัด
ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการรักษาโรคริดสีดวงทวาร
โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่เป็นโรคริดสีดวงทวารมักจะอายและไม่กล้าไปพบแพทย์ บางรายก็อาจหันไปใช้แพทย์ทางเลือกแทน โดยใช้วิธีรักษาด้วยการฉีดยาสมุนไพรจนกระทั่งแผลเน่าและรูทวารตีบ
ในกรณีนี้แพทย์จะรักษาด้วยการขยายรูทวารและดันผิวหนังที่ยื่นนูนออกมาให้กลับเข้าไปภายใน ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรงมากระหว่างการรักษา
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรักษาโรคริดสีดวงทวาร
หลังจากผ่าตัดแล้วจะทำให้กลั้นอุจจาระไม่อยู่ ในความจริงแล้ว การผ่าตัดริดสีดวงทวารหนักจะไม่ไปโดนในส่วนของกล้ามเนื้อหูรูดและไม่มีผลเกี่ยวข้องกับการกลั้นอุจจาระแต่อย่างใด รวมถึงไม่มีผลแทรกซ้อนใดๆ ที่เป็นอันตรายทั้งสิ้นด้วย
การรักษาริดสีดวงทวารไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัดเท่านั้น และแพทย์มักแนะนำการผ่าตัดกับผู้ป่วยรายที่จำเป็นเท่านั้นดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องกลัวว่า เมื่อเป็นโรคริดสีดวงทวารแล้วจะต้องเข้าห้องผ่าตัดอย่างแน่นอน และไม่ควรอายที่จะไปพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาอย่างเหมาะสมด้วย
สมุนไพรรักษาโรคริดสีดวงทวาร
นอกจากการใช้ยา หรือการผ่าตัดแล้ว ยังมีวิธีรักษาด้วยสมุนไพรไทยซึ่งสามารถช่วยให้อาการของโรคริดสีดวงทวารดีขึ้นได้ เช่น
เพชรสังฆาต: นำเพชรสังฆาตสด 1 ปล้อง หั่นเป็นข้อเล็กๆ แล้วหุ้มด้วยกล้วยสุกหรือมะขามเปียก ให้รับประทานวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็นติดต่อกันเป็นเวลา 10-15 วัน แล้วอาการของโรคริดสีดวงทวารจะค่อยๆ บรรเทาและสามารถหายเองได้
ขลู่: นำใบขลู่มาต้มรับประทานเป็นชาและคุณยังสามารถอบไอสมุนไพรผ่านการใช้เปลือกของต้นขลู่ซึ่งนำมาต้มในน้ำจนเดือดได้ ขลู่จะช่วยบรรเทาอาการอักเสบได้ นอกจากนี้ขลู่ยังเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษาที่หลากหลาย เช่น ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่วในไต ช่วยย่อยอาหาร และยังสามารถนำมารักษาโรคริดสีดวงจมูกได้ด้วยเช่นกัน
ว่านหางจระเข้: นำว่านหางจระเข้มาปอกเปลือกส่วนนอกออกให้หมด เหลาให้ปลายแหลมเล็กน้อย เพื่อความสะดวกในการเหน็บเข้าไปในช่องทวารหนัก หากต้องการให้เหน็บง่ายขึ้นมีข้อแนะนำว่า ให้นำว่านหางจระเข้ไปแช่ในตู้เย็นเพื่อทำให้เกิดการแข็งตัวและจะทำให้สอดได้ง่ายขึ้น ควรทำให้ได้วันละ 1-2 ครั้ง จนกว่าจะหาย
วิธีป้องกันโรคริดสีดวงทวารหนัก
รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืช ผัก และผลไม้ต่างๆ หรือน้ำลูกพรุนเพื่อทำให้ระบบขับถ่ายคล่องตัว
ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8-10 แก้ว เพราะน้ำมีส่วนช่วยทำให้กากใยอาหารอ่อนตัวและช่วยให้อาหารเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ง่ายขึ้น
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายมีส่วนช่วยทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้นและยังช่วยทำให้ลำไส้แข็งแรงขึ้นด้วย
โรคริดสีดวงทวารหนักเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง หรือไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ร่างกาย เพียงแต่จะทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดความเจ็บปวดเวลาขับถ่าย
ดังนั้นจึงควรดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำให้มากๆ และงดเว้นพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคริดสีดวงทวารหนัก
นอกจากนี้หากเกิดอาการของโรคริดสีดวงแล้วควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง ไม่ควรอายเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพตามมาอย่างร้ายแรงกว่าที่คิดได้
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคริดสีดวงทวาร
1. เวลาขับถ่ายจะมีเลือดสดๆ ปนมาด้วย บางครั้งก็เยอะ บางครั้งก็น้อย มีวิธีการรักษาอย่างไรบ้างคะ เเล้วมีโอกาสเป็นโรคริดสีดวงหรือเปล่า?
คำตอบ: อาการถ่ายเป็นเลือดสดพบได้ในคนเป็นโรคริดสีดวงทวารครับ แต่ควรได้รับการยืนยันวินิจฉัยและตรวจร่างกายจากแพทย์ก่อน โรคริดสีดวงทวารเป็นโรคที่พบได้บ่อยซึ่งจะมีอาการหลักๆ อยู่ที่เลือดออกขณะและหลังถ่ายอุจจาระ มีติ่งเนื้ออยู่ที่ขอบทวาร อาการในระยะแรกจะเป็นๆ หายๆ ไม่รุนแรง
โรคริดสีดวงทวารแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ โรคริดสีดวงภายในและโรคริดสีดวงภายนอก ส่วนอาการของโรคจะได้แก่
มีเลือดแดงสดหยด หรือพุ่งออกมาขณะเบ่งถ่าย หรือหลังถ่ายอุจจาระ จำนวนเลือดที่ออกมาแต่ละครั้งจะไม่มากนัก และอาจยังไม่มีอาการปวดหรือแสบที่ขอบทวาร จากนั้นอาการมักจะหยุดไปเอง และจะเป็นๆ หายๆ
มีติ่ง หรือก้อนเนื้อปลิ้นออกมาจากภายในขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ และจะยุบกลับเข้าไปเมื่อหยุดเบ่ง เมื่อโรคเป็นรุนแรงมากขึ้นจะต้องใช้นิ้วดันจึงจะกลับเข้าไป และขั้นสุดท้ายตัวติ่งเนื้ออาจย้อยอยู่ภายนอกตลอดเวลา
มีก้อนและเจ็บปวดที่ขอบทวาร หากเกิดขึ้นจะเจ็บมากในระยะเวลา 5-7 วันแรก และเมื่อโรคถึงระยะนี้ ผู้ป่วยจะต้องระวังภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นด้วย ส่วนการรักษาก็จะขึ้นอยู่กับระยะของโรคเช่นกัน
สำหรับวิธีการรักษาในอาการระดับทั่วไปที่ยังไม่รุนแรง แพทย์อาจใช้การรักษาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอื่นๆ เพื่อให้การขับถ่ายสะดวกมากขึ้น อุจจาระนิ่ม ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเบ่งรุนแรง และเพื่อระงับอาการที่ก่อให้เกิดความรำคาญ หรือเจ็บปวด ได้แก่
เพิ่มอาหารที่มีเส้นใยมาก เช่น ผัก ผลไม้
ดื่มน้ำให้มากขึ้น
รับประทานยาระบาย
ส่วนวิธีการรักษาเฉพาะเจาะจงจะมีหลายวิธีด้วยขึ้นอยู่กับระยะของโรค เครื่องมือ สถานที่ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้แก่ การฉีดยา การใช้ยางรัด การจี้ริดสีดวง และการผ่าตัดริดสีดวงทวารครับ (ตอบโดย ชยากร พงษ์พยัคเลิศ (นพ.)) อ่านเพิ่มเติม: รวมคำถาม-คำตอบเรื่องอาหารการกิน สำหรับผู้เป็นริดสีดวงทวาร 2. ถ่ายเป็นเลือดสีแดงสดมา 3 วันแล้ว ครั้งแรกถ่ายเป็นเลือดและมีลิ่มเลือดปนออกมา แต่ไม่มีกลิ่นคาวเลือด และมีอาการแสบท้องเหมือนกินของเผ็ดด้วย วันที่ 2 ก็ยังถ่ายค่อนข้างเหลวและมีเลือดออกมาเหมือนเดิม วันที่ 3 ก็เหมือนกัน ถ่ายเหลวและมีเลือด สงสัยว่า เป็นโรคริดสีดวงหรือเปล่า รบกวนคุณหมอช่วยตอบด้วย คำตอบ: แนะนำว่า คุณควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดก่อนว่า อาการถ่ายอุจจาระปนเลือดเกิดจากอะไรกันแน่ ส่วนสาเหตุที่ต้องระวังให้มากก็คือ โรคมะเร็งลำไส้ เพราะอาการของโรคนี้จะอยู่ในรูปถ่ายอุจจาระปนกับเลือด ปวดหน่วง และถ่ายไม่สุด ส่วนอาการของโรคริดสีดวงทวารจะถ่ายเป็นเลือดสดและเลือดมักออกมาเคลือบปนกับอุจจาระ ทางที่ดีควรไปตรวจให้แน่ใจก่อนจะดีกว่า (ตอบโดย Buakhao Arpaporn (พญ.))
3. ผมเจ็บริดสีดวงมาก
ทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากนอนมา 1 สัปดาห์แล้ว และเมื่อ 2 วันก่อน ผมไปหาหมอที่ศูนย์การแพทย์ หมอให้ยามารับประทานโดยที่ยังไม่ตรวจริดสีดวงผมเลย ยาที่จ่ายมาเป็นยาตัวเดียวกับที่ผมซื้อมาจากร้านขายยา วันนี้ผมเจ็บไม่ไหวแล้วจริงๆ สามารถเข้าไปผ่าเลยได้ไหม
คำตอบ: ถ้ามีอาการปวดมาก รับประทานยาที่แพทย์จ่ายมาแล้วยังไม่ดีขึ้น คุณสามารถเข้าไปที่ศูนย์การแพทย์พัฒนาได้ตลอดเวลาอยู่แล้วครับ และแพทย์จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะรักษาอย่างไรต่อไป เนื่องจากวิธีการรักษามีหลายแบบด้วยกัน (ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.))
อ่านเพิ่มเติม: ริดสีดวงแตก ทำอย่างไรดี?
4. เป็นโรคริดสีดวงตอนท้องอยู่ สามารถกินยาแก้ริดสีดวงได้ไหมคะ
คำตอบ: สามารถใช้ยาได้ครับ แต่ยาที่จะช่วยในการลดการอักเสบและบวมในหญิงตั้งครรภ์อาจต้องใช้เป็นยาเหน็บก้นแทน เพราะยารับประทานทั่วไปที่ช่วยรักษาโรคริดสีดวงได้เป็นยาที่ยังไม่มีการศึกษาว่าใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ ฉะนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้หากไม่จำเป็นจริงๆ
หากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์บอกว่าเป็นโรคริดสีดวงทวาร แพทย์จะต้องดูว่า มีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ถ้า ไม่เจ็บ ไม่มีเลือดออกมาก แพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่ดันกลับเข้าไปเองและให้เน้นรับประทานอาหารที่มีกากใยเยอะๆ ถ้านั่งแล้วเบ่งอุจจาระไม่ออกก็ไม่ต้องเบ่งต่อ ถ้าคุณแม่ปฏิบัติตามได้ดีก็ไม่มีปัญหา
แพทย์ไม่แนะนำให้คุณแม่ซื้อทั้งยาเหน็บและยาทาตามร้านเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาจะปลอดภัยกับคุณแม่และทารกที่สุด (ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.))
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจและรักษาริดสีดวงทวาร จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android
รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับโรคริดสีดวงทวาร
ริดสีดวงทวารหนักคืออะไร?
ริดสีดวงทวารขณะตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้อย่างไร
อาการโรคริดสีดวงทวารเป็นอย่างไร
วิธีรักษาริดสีดวงทวารทั้งแบบแผนปัจจุบันและทางเลือก
การรักษาริดสีดวงทวาร
ยารักษาริดสีดวง มีแบบไหนบ้าง?
ผ่าริดสีดวงทวารแบบใหม่เจ็บน้อย ปลอดภัย ฟื้นตัวไว และไม่เสี่ยง
การฟื้นตัวหลังการผ่าตัดริดสีดวงทวาร
ควรบีบริดสีดวงทวาร ทำให้ริดสีดวงแตกไปเลยดีไหม?
ริดสีดวงแตก ทำอย่างไรดี?
7 สิ่งที่ควรทำ ถ้าอยากหายจากริดสีดวงทวาร
รวมคำถาม-คำตอบเรื่องอาหารการกิน สำหรับผู้เป็นริดสีดวงทวาร
แหล่งข้อมูล กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่ ภญ.อ.วิไล ตระกูลโอสถ, ริดสีดวงทวาร (http://oldweb.pharm.su.ac.th/thai/Organizations/DIS/Articles/PDF_Files/health001.pdf), , 20 กรกฎาคม 2563. รุ่งฤดี จิณณวาโส และ ภัทราพร พูลสวัสดิ์, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, ริดสีดวงทวาร (https://med.mahidol.ac.th/sdmc/sites/default/files/public/pdf/hemorrhoid.pdf), 20 กรกฎาคม 2563. นพ.นพพล เฟื่องวรรธนะ, Hemorrhoid (http://medinfo2.psu.ac.th/surgery/Collective%20review/2561/6.Hemorrhoid%20(Nopphon%2018.4.61).pdf), 20 กรกฎาคม 2563.
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน
Comments